การจะเข้าถึงผู้สูงวัย ก็ต้องเข้าใจวิธีการสื่อสารกับผู้สูงวัยเสียก่อน ซึ่งแนวทาง คือ
1.ต้องเป็นเรื่องใกล้ตัว : แนวทางนี้เป็นภาพรวมอยู่แล้ว สำหรับการสื่อสารด้านการตลาด ซึ่งควรใกล้ตัวหรือเกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมาย แต่ประเด็นนี้มีความจริงแท้ยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อพุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุ เพราะคนอายุ 65 ปีขึ้นไปอยากได้คำหรือข้อความที่ตรงไปตรงมา ไม่ใช่แบบมีลีลาท่ามากหรือคำโฆษณาเก๋ไก๋สุดชิค
การใช้ภาษาที่ชัดเจนแบบมีข้อคิดนิดหน่อย และหลีกเลี่ยงศัพท์แสงวัยรุ่น จะช่วยได้มาก รวมถึงการให้เหตุผลว่าทำไมต้องใช้สินค้า-บริการชิ้นนี้ หรือการนำบุคคลซึ่งเป็นที่รู้จัก มารับรองตัวสินค้า-บริการ ก็สามารถช่วยได้
2.ปรับการนำเสนอให้ตรงกลุ่ม : อย่าสรุปหรือเหมารวมว่าลูกค้าทุกคนเหมือนกันหมด หรือคนอายุ 55 ปีขึ้นไปต้องชอบในสิ่งที่เหมือนๆ กัน แต่วางกลยุทธ์การตลาดและการสื่อสารให้เหมาะกับพื้นเพด้านการศึกษา วัฒนธรรม ที่อยู่อาศัย สถานภาพการทำงาน และอื่นๆ ด้วย
3.สร้างความรู้สึกพิเศษ : เสนออะไรที่เป็นเอกซ์คลูซีฟ หรือโปรโมชันสุดพิเศษสำหรับผู้สูงอายุ อย่างจัดวันเซลส์สำหรับผู้สูงอายุ หรือบริการ delivery ฟรี หรือมอบของกำนัลในวันเกิด เพื่อให้ผู้สูงอายุรู้สึกภูมิใจและมีคุณค่า วิธีการนี้ยังเอื้อให้ผู้สูงอายุนำไปบอกต่อกับเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัว ซึ่งการบอกต่อๆ กันนี่แหละ ถือเป็นเครื่องมือโปรโมทที่มีประสิทธิภาพมาก
4.เรียบง่ายเข้าไว้ : หากมีการนำเสนอหรือขายสินค้าทางออนไลน์ ทำทุกอย่างให้เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน และใช้งานง่ายเข้าไว้
5.สร้างความไว้วางใจ : หากมีการขอข้อมูลส่วนตัวจากผู้สูงอายุ ควรอธิบายให้เข้าใจว่าจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปทำอะไร และข้อมูลเหล่านี้จะช่วยปรับปรุงประสบการณ์ชอปปิงในอนาคตได้อย่างไร รวมถึงยืนยันว่าข้อมูลจะไม่ตกถึงมือคนอื่น นอกจากนั้น วิธีการ อย่างการคืนเงินมาในรูปของส่วนลด ก็ช่วยสร้างความไว้วางใจได้
6.คอยติดตามผล : คอยติดต่อกับลูกค้าหลังจากซื้อสินค้าไปแล้ว รวมถึงตอบคำถามต่างๆ หากลูกค้ามีปัญหา เพราะผู้สูงอายุอยากมีความรู้สึกว่าสามารถติดต่อสื่อสารกับร้านที่ซื้อสินค้าไปได้ อีกทั้งวิธีปฏิบัติแบบนี้ยังสะท้อนถึงความเป็นแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และแสดงให้เห็นถึงความเอาใจใส่ลูกค้า